หน้า 4 จาก 4

          สายที่สามคือพวกยูเทเรียน (eutherian) คือพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรก จากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ที่พบทำให้สันนิษฐานว่าสัตว์มีรกมีกำเนิดมาจากสัตว์กินแมลงที่หากินตอนกลางคืนในยุคครีเตเชียส มีลักษณะคล้ายกระแตปัจจุบัน ลักษณะที่สำคัญของสัตว์มีรกคือการที่มีรกเพื่อเลี้ยงดูตัวอ่อนในมดลูก และมีลักษณะของโครงร่างที่วิวัฒนาการไป เช่น ไม่มีถุงหน้าท้องและกระดูกส่วนที่ค้ำจุนถุงหน้าท้อง ลักษณะกะโหลกที่เป็นท่อยาว ขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น การพัฒนาของขาและนิ้วให้เหมาะกับการเคลื่อนที่ ฟันที่ลดจำนวนลงแต่เหมาะกับการใช้งานมากขึ้นและขนาดสมองที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น สัตว์ในกลุ่มนี้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ เช่น ช้าง ม้า ยีราฟ หนู สุนัข แมว และอื่นๆรวมถึงสัตว์ในกลุ่มไพรเมตที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์เราในปัจจุบันนี้

บรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรก มีลักษณะคล้ายกระแต

          ปัจจัยที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประสบความสำเร็จในวิวัฒนาการจนมีสปีชีส์ใหม่มากมายสรุปได้จากวิวัฒนาการของระบบร่างกายได้แก่ ระบบหายใจและระบบไหลเวียน การมีหัวใจจะช่วยให้ระบบไหลเวียนแยกเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนมากและน้อยออกจากกันได้ นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์เลือดอุ่น การมีอุณหภูมิเลือดสูงอย่างสม่ำเสมอและถูกควบคุมด้วยกลไกภายในร่างกายทำให้เกิดวิวัฒนาการของสมองที่มีขนาดใหญ่แล้วมีกล้ามเนื้อที่ทำงานได้ดี ส่วนการมีระบบหายใจที่สมบูรณ์และมีกะบังลมก็ช่วยให้การหายใจในอากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ระบบการสืบพันธุ์และการดูแลตัวอ่อน เช่น การมีถุงหน้าท้อง การมีรก ทำให้ตัวอ่อนพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์และอัตราการรอดชีวิตของลูกที่เกิดมามีมากขึ้น


หน้า 1 2 3 4