การสลายกลูโคสผ่านวิถีไกลโคลิซีส พลังงานส่วนใหญ่จะยังคงสะสมอยู่ในโมเลกุลของไพรูเวต ถ้าในเซลล์มีออกซิเจน ไพรูเวตก็จะเข้าสู่ไมโตคอนเดรียซึ่งเอนไซม์ของ
วัฏจักรเครบส์จะทำหน้าที่ออกซิไดส์ต่ออย่างสมบูรณ์
          เมื่อไพรูเวตจากไซโตซอลเข้ามายังไมโตคอนเดรีย มันจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่มีชื่อ
เรียกว่าแอซิติลโคเอนไซม์ เอ หรือเรียกย่อๆ ว่า แอซิติลโคเอ (acetyl Co A) เสียก่อน
ขั้นนี้เป็นรอยต่อของวิถีไกลโคลิซีสกับวัฏจักรเครบส์ ประกอบขึ้นด้วยปฏิกิริยาสามขั้นตอน คือ

(1) หมู่คาร์บอกซิลของไพรูเวตหลุดออกเกิดเป็นคาร์บอนไดออกไซด์

(2) ส่วนที่เหลือของไพรูเวตซึ่งมีคาร์บอนเหลืออยู่สองอะตอมจะถูกออกซิไดส์ด้วย NAD+ ได้เป็นสารประกอบที่ชื่อ แอซีเตต ปฏิกิริยานี้จะได้สารพลังงานสูงในรูปของ NADH

(3) จากนั้นโคเอนไซม์ เอ ซึ่งเป็นสารที่มีหมู่ซัลเฟอร์ และเป็นอนุพันธ์ของวิตามินบี จะถูกนำไป
ติดกับแอซีเตตด้วยพันธะที่ไม่ค่อยอยู่ตัวได้เป็นแอซิติลโคเอ ทำให้แอซิติลโคเอ ส่งหมู่
แอซีเตต เข้าสู่วัฏจักรเครปส์เพื่อถูกออกซิไดส์ต่อได้อย่างง่าย






รูปที่ 7.4 การเปลี่ยนแปลงไพรูเวตให้เป็นแอซิติลโคเอเพื่อเข้าสู่วัฏจักรเครบส์


            วัฏจักรเครปส์ ตั้งชื่อตาม ฮานส์ เครปส์ (Hans Krebs) นักวิทยาศาสตร์รางวัล
โนเบลชาวเยอรมันผู้ซึ่งค้นพบวัฏจักรนี้ในระหว่างปี ค.ศ. 1930-1940 วัฏจักรนี้ประกอบด้วย
ปฏิกิริยาหลายขั้นตอนด้วยกัน แต่ละขั้นตอนอาศัยการเร่งของเอนไซม์ที่จำเพาะสำหรับแต่ละ
ปฏิกิริยา แอซิติล โค เอ ที่เข้าสู่วัฏจักรเครปส์จะรวมกับออกซาโลแอซิเตตเกิดเป็นซิเตรตและ
ทำปฏิกิริยาต่อไปอีก 8 ขั้นตอน จนได้ออกซาโลแอซิเตตกลับคืนมา สารที่เข้าทำปฏิกิริยา
ทุกตัวรวมทั้งผลิตผลของปฏิกิริยาทุกตัวในวัฏจักรเครปส์ล้วนเป็นกรดด้วยกันทั้งนั้น ปฏิกิริยา
ส่วนใหญ่ของวัฏจักรเครปส์เป็นปฏิกิริยารีดอกซ์ทำให้ได้สารพลังงานสูง NADH และ FADH2
ออกมา ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการสร้าง ATP โดยวิธีออกซิเดทีฟฟอสโฟริเลชันต่อไป วัฏจักรเครปส์เองสามารถสร้าง ATP โดยวิธีฟอสโฟริเลชันระดับซับสเตรตได้เช่นเดียวกับ
วิถีไกลโคลิซีส




รูปที่ 7.5 วัฏจักรเครปส์

           วัฏจักรเครปส์เริ่มด้วย แอซีติลโค เอ รวมตัวกับ ออกซาโลแอซีเตต (oxaloacetate)
ให้ได้ ซิเตรต (citrate)และโคเอนไซม์ เอ (CoA-SH) ซึ่งซิเตรตจะเปลี่ยนแปลงไปเป็น
ไอโซเมอร์ของมันคือ ไอโซซิเตรต (isocitrate) ต่อไปสารนี้จะสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์
กลายเป็น แอลฟาคีโตกลูตาเรต (-ketoglutarate) ซึ่งจะสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์
อีกตัวหนึ่งกลายเป็น ซัคซินิลโคเอ (succinyl CoA) จากนั้นเป็นการเปลี่ยนซัคซีนิลโคเอ
ให้เป็น ซัคซิเนต (succinate) มาเลต (fumalate) และ มาเลต (malate) ตามลำดับ

           วัฏจักรเครปส์มีเอนไซม์ที่สามารถให้อิเล็กตรอนแก่ NAD+ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น NADH
อยู่สามปฏิกิริยา คือ ไอโซซิเตรตดีไฮโดรจีเนส (isocitrate dehydrogenase) แอลฟาคีโต-
กลูตาเรตดีไฮโดรจีเนส (-ketoglutarate dehydrogenase) และ มาเลตดีไฮโดรจีเนส
(malate dehydrogenase) และยังมีเอนไซม์ ซัคซิเนตดีไฮโดรจีเนส (succinate dehydrogenase) ที่จะให้อิเล็กตรอนแก่ FAD เกิดเป็น FADH2 นอกจากนี้วัฏจักรเครปส์ยังมี
ปฏิกิริยา ซัคซินิลโคเอซินธีเทส (succinyl CoA synthetase) ที่สามารถสร้าง GTP ซึ่งเป็นสาร
พลังงานสูงตัวหนึ่งที่มีพลังงานอิสระที่สภาวะมาตรฐานเท่ากับ ATP ขึ้นจาก GDP โดยวิธี
ฟอสโฟริเลชันระดับซับสเตรต