ทำไมสสารต่างกันจึงมีสมบัติต่างกัน

บทนำ

     มนุษย์ในสมัยโบราณพยายามหาคำตอบของคำถามที่ว่า "ทำไมสสารต่างกันจึงมีสมบัติต่างกัน" ดังนั้นจึงเป็นความพยายามนับร้อยนับพันปีที่จะศึกษาว่าสสารประกอบด้วยอะไรบ้าง

     ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยจนตอบคำถามได้แล้วว่า ทุกสรรพสิ่งไม่ว่าสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่าอะตอม และภายในอะตอมประกอบด้วยอนุภาคมูลฐานที่สำคัญ 3 อนุภาค คือ โปรตอน, นิวตรอน และอิเล็กตรอน ดังตัวอย่าง

     ตัวอย่างที่ 1 ในสิ่งมีชีวิต เช่น มนุษย์ ซึ่งร่างกายประกอบด้วยอวัยวะมากมาย เช่น หัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ โดยที่โครงสร้างของโปรตีนประกอบด้วยอะตอมของธาตุคาร์บอน(C), ธาตุไฮโดรเจน(H), ธาตุออกซิเจน(O) และธาตุไนโตรเจน(N) และธาตุทุกธาตุประกอบด้วยอนุภาคมูลฐานขนาดเล็ก 3 อนุภาคคือโปรตอน, นิวตรอน, และอิเล็กตรอน ซึ่งแต่ละอะตอมของธาตุแต่ละชนิดประกอบด้วยอนุภาคมูลฐาน ในจำนวนที่ต่างกันทำให้สสารมีสมบัติต่างกัน

     ตัวอย่างที่ 2 ในสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ดินสอ ไส้ดินสอนั้นทำมาจากแกรไฟต์ ซึ่งประกอบด้วยธาตุคาร์บอนจำนวนมากมาเกิดพันธะเคมีซึ่งกันและกัน และธาตุคาร์บอนนั้นประกอบด้วยอนุภาคในอะตอมขนาดเล็ก 3 อนุภาคคือโปรตอน, นิวตรอน และอิเล็กตรอน

     สรุปได้ว่า ในสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตประกอบด้วยอนุภาคมูลฐานที่สำคัญ 3 อนุภาค คือ โปรตอน, นิวตรอน และอิเล็กตรอน

     อยากทราบไหมว่า อนุภาคในอะตอม ซึ่งมีขนาดเล็กมาก จนตาของเรามองไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์ค้นพบอนุภาคเหล่านี้ได้อย่างไร