สื่อผสมเพื่อเสริมการเรียนรู้เรื่อง “เครื่องชั่งและอุปกรณ์วัดปริมาตรในห้องปฏิบัติการ” ได้จัดทำขึ้น ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมความรู้และความเข้าใจในหลักการและวิธีการชั่งน้ำหนักและวัดปริมาตรอย่างถูกวิธี สื่อผสมนี้จึงเหมาะกับทั้งนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งครู อาจารย์ที่ต้องการทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักการและวิธีการใช้เครื่องชั่งและการใช้อุปกรณ์วัดปริมาตรอันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่นำไปสู่การทำปฏิบัติการที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในด้านความแม่นยำและความเที่ยงตรง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเฉพาะปฏิบัติการในวิชาเคมีเท่านั้น แต่ยังเป็นได้ในอีกหลายสาขาวิชา

         เนื้อหาของสื่อผสมนี้ ประกอบด้วย 4 บท คือ การวัด เครื่องชั่ง อุปกรณ์วัดปริมตร และกิจกรรมท้ายบทเรียน การนำเสนอในแต่ละบทนั้น ผู้จัดทำได้ใช้ศัพท์หรือคำอธิบายภาษาไทยที่เข้าใจง่าย รวมทั้งศัพท์บัญญัติที่มีการใช้แพร่หลาย โดยจะให้ศัพท์ภาษาอังกฤษไว้ในวงเล็บ เพื่อให้ผู้ใช้สื่อเกิดความคุ้นเคยและสามารถอ่านตำราและบทความภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งเพื่อประกอบคำอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื้อหาในแต่ละบทมีการสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจไว้ด้วย อนึ่ง สื่อนี้ทำขึ้นเพื่อเสริมบทเรียน ฉะนั้นจึงจะมีเนื้อหาวิชาไม่ครบตามหลักสูตร นักเรียน นักศึกษา จะต้องศึกษาเพิ่มเติมจากตำราเรียน สื่อนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำสิ่งที่ยากต่อความเข้าใจมาอธิบายในรูปแบบที่ง่ายขึ้น และเพิ่มเติมบางหัวข้อที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้เข้าไปด้วย

        สื่อการเรียนรู้นี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในหลักการและวิธีการชั่งน้ำหนักและการวัดปริมาตร เพื่อให้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในการทำปฏิบัติการ เพราะว่า การที่จะทำการวิเคราะห์ให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือและถูกต้องนั้น ต้องเริ่มจากการใช้เครื่องชั่งและอุปกรณ์วัดปริมาตรที่ถูกต้องก่อน เพราะถ้าเรา ชั่งน้ำหนักหรือวัดปริมาตรไม่ถูกต้อง นั่นก็หมายความว่า งานวิเคราะห์ของเราเริ่มผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

        ขอให้ทุกท่านใช้ประโยชน์จากสื่อผสม "เครื่องชั่งและอุปกรณ์วัดปริมาตรในห้องปฏิบัติการ" นี้อย่างเต็มที่ ทางคณะผู้จัดทำเข้าใจดีว่าการที่จะทำสื่อผสมให้สมบูรณ์แบบคงเป็นไปโดยยาก หากท่านมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะใดๆ เพื่อช่วยปรับปรุงสื่อให้มีความสมบูรณ์มากขั้น ทางคณะผู้จัดทำขอน้อมรับด้วยความยินดีอย่างยิ่ง

คณะผู้จัดทำ