หลักในการอ่านปริมาตรของสารละลาย

     หลักในการอ่านปริมาตรของสารละลายที่ถูกต้องในอุปกรณ์วัดปริมาตรคือ จะต้องให้สายตาอยู่ในระดับเดียวกันกับจุดต่ำสุดของส่วนโค้งเว้า (meniscus)
          meniscus คือ ผิวหน้าสารละลายในหลอดแก้วมองเห็นเป็นเส้นโค้ง อุปกรณ์วัดปริมาตรของสารละลายที่สำคัญได้แก่ ขวดปริมาตร  บิวเรตต์  ปิเปตต์  และกระบอกตวง เมื่อบรรจุสารละลายลงในอุปกรณ์วัดปริมาตรเหล่านี้ ระดับสารละลายตอนบนจะมีลักษณะโค้งเว้าเกิดขึ้น ส่วนโค้งเว้านี้เกิดจากแรงดึงดูดผิวระหว่างผิวแก้วกับสารละลาย

     การหาตำแหน่งเพื่ออ่านปริมาตรของสารละลายหรือตำแหน่งของส่วนโค้งเว้าต่ำสุดที่แน่นอนนั้น อาจใช้กระดาษแข็งสีดำหรือสีขาวแต่ต้องมาขีดเส้นด้วยดินสอหรือหมึกดำนำไปทาบหลังขีดบอกปริมาตรให้ระดับสายตาอยู่ในระดับเดียวกันกับส่วนโค้งเว้าต่ำสุดของของเหลวแล้วเลื่อนแผ่นกระดาษขึ้นลงจนกระทั่งขอบบนของกระดาษดำหรือเส้นดำบนกระดาษขาวอยู่ในแนวเดียวกับส่วนต่ำสุดของโค้งเว้า ก็อ่านปริมาตรตรงตำแหน่งนี้

     ตำแหน่งของระดับสายตาในการอ่านปริมาตร มีความสำคัญต่อค่าที่ได้จากการอ่านปริมาตรมากกล่าวคือ

          1. ถ้าระดับสายตาอยู่เหนือส่วนโค้งเว้าต่ำสุดของสารละลาย ปริมาตรที่อ่านได้จะมากกว่าปริมาตรจริง
          2. ถ้าระดับสายตาอยู่ในระดับเดียวกันกับส่วนโค้งเว้าต่ำสุดของสารละลาย ปริมาตรที่อ่านได้จะมีค่าถูกต้อง
          3. ถ้าระดับสายตาอยู่ต่ำกว่าส่วนโค้งเว้าต่ำสุดของสารละลาย ปริมาตรที่อ่านได้จะน้อยกว่าปริมาตรจริง

     การอ่านปริมาตรของสารละลายนั้น ถ้าระดับสายตาไม่อยู่ในระดับเดียวกันกับส่วนโค้งเว้าต่ำสุดของสารละลายแล้ว การอ่านปริมาตรจะมีความคลาดเคลื่อน เรียกความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นนี้ว่า parallax error

     หมายเหตุ ถ้าสารละลายมีสีเข้ม เช่น ด่างทับทิม (KMnO4) ให้อ่านปริมาตรโดยให้ระดับสายตาอยู่ในแนวเดียวกันกับส่วนโค้งด้านบนสุดของสารละลาย