ลิพิด (lipid) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ ไขมัน เป็นชีวโมเลกุลที่มีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตประเภทโมเลกุลใหญ่ เนื่องจากว่าโมเลกุลของมันไม่ได้ประกอบขึ้นจากหน่วยย่อยที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน มาเรียงตัวต่อกันเป็นสาย แต่อย่างไรก็ตามโมเลกุลของลิพิดก็ประกอบขึ้นจากโมเลกุลเล็กๆ หลายชนิดมาเชื่อมต่อกันอยู่

           ชีวโมเลกุลจำพวกลิพิด มีโครงสร้างทางเคมีมากมายหลายแบบและมันทำหน้าที่หลากหลายในสิ่งมีชีวิต แต่โครงสร้างทางเคมีของลิพิดแบบต่างๆ นั้น มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ มันจะมีส่วนของโครงสร้างที่เป็นไฮโดรคาร์บอนซึ่งโมเลกุลแสดงความไม่มีขั้ว (non-polar) และแสดงคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ (hydrophobicity) แต่จะละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น คลอโรฟอร์ม เฮกเซน อีเทอร์ เป็นต้น

           ไขมันที่เก็บอยู่ในเนื้อเยื่อที่ทำให้พุงเรากางออก หรือไขมันของหมูสามชั้นที่ทำให้แคบหมู (ไม่ไร้มัน) อร่อยเป็นพิเศษ รวมทั้งน้ำมันจากผลและเมล็ดของพืชที่เรานำมาใช้ในการทำอาหาร เช่น เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลือง เมล็ดฝ้าย มะกอก และปาล์ม เป็นตัวอย่างของลิพิดที่เรารู้จักกันดี

           ไขมันในเนื้อเยื่อของสัตว์นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานงานสำรองและเป็นสารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์สารสำคัญอื่นๆ ในร่างกายแล้ว มันยังทำหน้าที่เป็นฉนวนต่ออุณหภูมิสำหรับร่างกายของสัตว์เลือดอุ่นบางชนิดที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นอีกด้วย

 


          ไขที่แพลงก์ตอนใช้เป็นแหล่งพลังงาน ไขที่เคลือบผมคนให้เงางาม เคลือบขนนกไม่ให้ซึมซับน้ำ ไขที่เคลือบผิวใบไม้และผลไม้เพื่อลดการสูญเสียน้ำ หรือป้องกันการเจาะกัดทำลายของหนอนและแมลง รวมทั้งขี้ผึ้งที่ผึ้งเอามาสร้างรวงรัง ล้วนเป็นชีวโมเลกุลจำพวกลิพิดซึ่งมีความไม่ชอบน้ำสูงทั้งสิ้น

          ลิพิดบางชนิดอาจจะประกอบด้วยส่วนที่มีขั้ว (polar) ที่มีประจุหรือไม่มีประจุอยู่ในโครงสร้างด้วย จึงทำให้ในโมเลกุลมีทั้งส่วนที่ชอบน้ำและส่วนที่ไม่ชอบน้ำอยู่ด้วยกัน  ส่วนของโครงสร้างที่มีขั้วจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ลิพิดทั้งโมเลกุลสามารถกระจายตัวอยู่ในน้ำได้ ตัวอย่างของลิพิดพวกนี้ได้แก่ ฟอสโฟลิพิด (phospholipids) ไกลโคลิพิด (glycolipid) และสเตอรอล (sterol) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของเยื่อเซลล์

          ลิพิดอื่นๆ ในเซลล์ บางตัวเป็นสารตัวกลางในเมแทบอลิซึม บางตัวเป็นตัวรับส่งข่าวสาร (messenger) ซึ่งอาจเป็นฮอร์โมนที่เชื่อมการติดต่อระหว่างเนื้อเยื่อผ่านทางกระแสเลือด หรือเป็นโมเลกุลที่ทำหน้าที่รับส่งข่าวสารจากนอกเซลล์กับในเซลล์ เช่น สัญญาณจากฮอร์โมน

          ลิพิดบางตัวทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์ของเอนไซม์ในปฏิกิริยาที่มีการถ่ายทอดอิเล็กตรอนที่เกิดขึ้นในคลอโรพลาสต์หรือไมโทคอนเดรีย บางตัวเป็นสารสีที่สามารถดูดกลืนแสงในช่วงที่ตามองเห็นได้ ช่วยในการมองเห็นและปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช