1. สมรรถนะ (performance)
       ประสิทธิภาพของเครือข่าย สามารถวัดได้จาก "เวลา" ซึ่งเวลาอาจวัดได้หลายแบบ เช่น เวลาที่ใช้ในการส่งข้อมูล ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่ผู้ส่งนำข้อมูลเข้าไปในตัวกลาง, เวลาในการตอบสนอง (response time) ซึ่งก็คือ เวลาที่ผู้รับได้รับข้อมูลอันแรก เป็นต้น ซึ่งเรื่องของ "เวลา" นี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ดังนี้

  • จำนวนผู้ใช้ ส่งผลต่อความเร็ว กล่าวคือ ถ้าในขณะที่เราไปใช้งานในเครือข่ายนั้น มีผู้ใช้งานจำนวนมาก จะทำให้มีปริมาณของข้อมูลในเครือข่ายมาก และส่งผลให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลง
  • ชนิดของสื่อส่งข้อมูล ความเร็วในการส่งข้อมูลขึ้นอยู่กับชนิดของสื่อส่งข้อมูลด้วย เช่น สื่อส่งข้อมูลชนิดสายใยนำแสง (fiber optic) สามารถส่งข้อมูลได้เร็วกว่าชนิดสายทองแดง เป็นต้น
  • ฮาร์ดแวร์ มีผลต่อความเร็วในการส่งข้อมูล เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยประมวลผลกลางที่มีประสิทธิภาพสูง และมีหน่วยความจำมาก ๆ จะทำให้ความเร็วในการส่งข้อมูลดีกว่า
  • ซอฟต์แวร์ หมายถึง โปรแกรมที่ใช้ในการรับส่ง และประมวลผลข้อมูล เพราะการส่งข้อมูลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งจำเป็นที่ต้องอาศัยกระบวนการหลายอย่าง เช่น การหาเส้นทาง การคำนวณเส้นที่ดีที่สุด การตรวจสอบความผิดพลาดของข้อมูล เป็นต้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องอาศัยซอฟต์แวร์ทั้งสิ้น
2. ความเชื่อถือได้ของระบบเครือข่าย (reliability)
       ในการรับส่งข้อมูลในเครือข่าย ซึ่งอาจต้องส่งผ่านโหนดหลาย ๆ โหนด กว่าจะถึงปลายทาง ซึ่งต้องผ่านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์หลากหลาย โอกาสที่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เหล่านั้นจะชำรุด เสียหายย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้นระบบเครือข่ายจะต้องมีความเชื่อถือได้ ซึ่งจะพิจารณาจากสิ่งต่อไปนี้
  • ความถี่ของการผิดพลาดและล้มเหลว หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ แสดงว่าระบบเครือข่ายนั้นมีระดับความเชื่อถือได้ต่ำ
  • เวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูระบบ เมื่อระบบเกิดล้มเหลวแล้ว ระยะเวลาที่ใช้ในการกู้ระบบให้สามารถใช้งานได้ดังเดิม ใช้เวลามากน้อยแค่ไหน หากใช้เวลาสั้น ๆ ในการฟื้นฟูระบบทำให้ไม่ส่งผลต่อการทำงานมากนัก ระดับความเชื่อถือได้จึงค่อนข้างสูง
  • ความปลอดภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว ไฟไหม้ หรือการจารกรรม
3. ความปลอดภัย (security)
       ระบบเครือข่ายที่ดีจะต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ หรือผู้บุกรุกเข้ามาในเครือข่ายได้ ในการป้องกันนั้นอาจทำได้หลายระดับ ระดับการป้องกันผู้บุกรุกที่เป็นพื้นฐานที่สุด คือ การใช้รหัสประจำตัวแต่ละบุคคล และต้องใช้คู่กับรหัสผ่าน ระดับการป้องกันที่สูงขึ้นอาจเป็นการเข้ารหัสข้อมูล (encryption) และเมื่อต้องการจะใช้งานก็ต้องมีการถอดรหัส (decryption) นอกจากนี้ระบบเครือข่ายจะต้องปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งอาจจะใช้ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสก็ได้
 
     
   
 



























 





 
     
 
 
<< การนำเครือข่ายไปใช้ในด้านต่าง ๆ | การสื่อสารข้อมูลในเครือข่าย >>
 
   

Copyright © 2004 Institute for Innovation and Development of Learning Process.  All rights reserved.