เมาส์ (mouse)

อุปกรณ์รับข้อมูลที่นิยมรองจากคีย์บอร์ด ได้แก่ อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง ที่เรียกว่า เมาส์ (mouse) หรือ "หนูอิเล็กทรอนิกส์" เนื่องจากเป็น อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายหนู มีสายต่ออยู่ที่ปลายลักษณะเดียวกับหางหนู เมาส์จะช่วยในการบ่งชี้ตำแหน่งว่าขณะนี้ "ตัวชี้ตำแหน่ง (pointer)" กำลังอยู่ ณ จุดใดบนจอภาพ ซึ่งอาศัยการเลื่อนเมาส์แทน

   

ในปัจจุบันคุณสามารถใช้งานโต้ตอบกับโปรแกรมผ่านทางรูปภาพ หรือข้อความต่างๆ ที่แสดงบนหน้าจอ เรียกว่า “กูอี” หรือ GUI ย่อมาจาก Graphical User Interface รวมทั้งรูปภาพเล็กๆ ที่ปรากฎบนหน้าจอ คุณสามารถคลิกที่รูปเล็กๆ นั้นเพื่อเปิดโปรแกรมหรือทำงานต่างๆ รูปเล็กๆ เหล่านั้นเรียกว่า ไอคอน (icon) ซึ่งแปลว่า สัญลักษณ์ หรือ ตัวแทนของสิ่งของบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ เช่น ตุุ๊กตาช้างไม้เล็กๆ เป็น ไอคอน ของช้างตัวจริงที่มีชีิวิตอยู่

พัฒนาการของเมาส์

เมาส์พัฒนาขึ้นมาครั้งแรก ในศูนย์ค้นคว้าที่เมืองปาโลอัลโต้ ของบริษัทซีร็อก (Xerox Corporation’s Palo Alto Research Center) เมาส์มีหลายรูปร่าง หลายลักษณะ โดยเฉพาะเมาส์รุ่นใหม่ๆ จะออกแบบมาอย่างสวยงาม โดยปกติปุ่มของเมาส์ จะมี 2 ปุ่มสำหรับเมาส์ของเครื่องพีซี และปุ่มเดียวสำหรับเครื่อง Macintosh ปัจจุบันมีการพัฒนาให้เมาส์ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยเพิ่มปุ่มเลื่อนตรงกลาง มีลักษณะคล้ายล้อ ดังรูป เรียกว่า Intelli Mouse ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ในการเลื่อนจอภาพเพื่อดูข้อมูล นอกจากนี้ยังมีเมาส์ที่ทำงานด้วยสัญญาณแสง ที่เรียกว่า Infrared หรือ Wireless Mouse

เมาส์ทำงานอย่างไร ?

เมาส์ประกอบด้วย ลูกกลิ้งที่ติดตั้งอยู่ด้านล่าง และมีปุ่มกดควบคุม (ตั้งแต่ 1 - 3 ปุ่ม) การใช้เมาส์จะนำเมาส์วางไว้บนพื้นราบ และเลื่อนเมาส์ไปในทิศทางที่ต้องการ บนจอภาพจะปรากฏ สัญลักษณ์ชี้ตำแหน่ง เรียกว่า "Mouse Pointer" (มักจะเป็นรูปลูกศรเฉียงซ้าย) เมื่อต้องการจะทำงานใดๆ ทำได้โดยกดปุ่มเมาส์ หรือ คลิ๊ก ที่คำสั่งที่คุณต้องการ หรือ ไอคอน คอมพิวเตอร์จะรับสัญญาณ และทำการประมวลผลต่อไป

สำหรับเมาส์ที่มีลูกกลิ้งอยู่ภายใน กลไกการทำงานที่อาศัยลูกบอลยาง ที่สามารถกลิ้งไปมาได้ เมื่อทำการเคลื่อนย้ายตัวเมาส์ ซึ่งลูกบอลจะกดแนบอยู่กับลูกกลิ้ง โดยแกนของลูกกลิ้ง จะต่อกับจานแปลรหัส (encoder) บนจานจะมีหน้าสัมผัสเป็นจุดๆ เมื่อจุดสัมผัสเลื่อนมาตรงแกนสัมผัส ก็จะสร้างสัญญาณ บอกไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมควบคุมเมาส์ จะทำหน้าที่ แปลเป็นคำสั่งเคลื่อนย้ายเคอร์เซอร์ บนจอภาพต่อไป
 เมื่อคุณเลื่อนเมาส์ไปบนพื้นเรียบลูกกลิ้งที่ทำจากยางก็จะเคลื่อนไปในทิศทางนั้นด้วย เมื่อลูกบอลหมุน มันจะสัมผัสกับแกนสองแกนที่วางตัวตั้งฉากกันอยู่ ซึ่งรับผิดชอบการเคลื่อนที่หน้า-หลัง และ ซ้าย-ขวา ซึ่งแกนทั้งสองมีแกนต่อไปยังล้อตรงปลายแกน เมื่อแกนหมุนเนื่องจากลูกบอลหมุน ก็จะทำให้ล้อหมุนตามไปด้วย ที่ขอบของล้อจะมีโลหะเล็กติดอยู่เป็นช่วงๆ และจะมีก้านโลหะตัวนำสัมผัสอยู่ที่วงล้อเมื่อก้านโลหะกับโลหะของล้อสัมผัสกันจะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ถ้ามีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านไปยังระบบเป็นจำนวนครั้งมาก แสดงว่าคุณเลื่อนเมาส์มาเป็นระยะทางมาก และถ้าความถี่ของการมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเพิ่มขึ้นแสดงว่าคุณเลื่อนเมาส์เร็วขึ้น ทิศทางของเมาส์จะคำนวณโดยใช้อัตราส่วนของการเคลื่อนที่ในแนวตั้งกับการเคลื่อนที่ในแนวนอนเพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสม สัญญาณไฟฟ้าจะถูกส่งไปที่ระบบผ่านสายเคเบิล และจะทำการเปลี่ยนค่าความถี่ของสัญญาณออกมาเป็นระยะทาง ทิศทางและความเร็วในการเลื่อนตัวชี้หรือเคอร์เซอร์บนหน้าจอ
เมื่อคุณคลิกกดปุ่มใดๆ เมาส์จะส่งสัญญาณไปที่ระบบและส่งต่อไปยังโปรแกรมการทำงานจะขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่กด และตำแหน่งที่กด


ส่วนเมาส์ที่ใช้แสง หรือเรียกว่า optical mouse จะอาศัยการฉายแสง ซึ่งจะมีหลอดไฟเล็กอยู่ด้านล่างของเมาส์ การทำงานคือ เมาส์จะฉายแสงไปตกระทบกับพื้นผิว และแสงจะสะท้อนกลับมา ที่ตัวเมาส์จะมีตัวรับแสงเหมือนกับในกล้องดิจิทัลซึ่งสามารถตรวจคุณสมบัติต่างๆ ของแสงได้ และแปลงเป็นสัญญาณดิจิทัล แล้วส่งต่อไปยังระบบเพื่อคำนวณหาความเร็ว และทิศทางของเคอร์เซอร์บนหน้าจอ

 
 
     Links อื่น ๆ
 



























 





 
       
 
 
 
   

Copyright © 2004 Institute for Innovation and Development of Learning Process.  All rights reserved.