เมแทบอลิซึมในร่างกายของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วย 2 กระบวนการย่อย คือ

             แคแทบอลิซึม (catabolism) คือ การสลายสารอาหารเพื่อให้ได้ ATP สารนำอิเล็กตรอน (NAD+, NADP+ และ FAD) และสารต้นตอสำหรับการสังเคราะห์

             แอแนบอลิซึม (anabolism) เป็นการใช้ ATP และ NADH (บางปฏิกิริยาใช้ทั้ง NADH, NADPH และ FADH2) รวมทั้งสารต้นตอที่ได้จากกระบวนการแคแทบอลิซึมในการสังเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต

            จะเห็นได้ว่า เมแทบอลิซึมประกอบด้วยกระบวนการย่อยคือ แคแทบอลิซึมซึ่งเป็นการสลายสารอาหาร (สารมหโมเลกุล) ให้เป็นโมเลกุลเล็กและป้อน ATP สารนำอิเล็กตรอน (NAD+, NADP+ และ FAD) และสารต้นตอสำหรับการสังเคราะห์ให้กับกระบวนการแอแนบอลิซึมเพื่อสร้างเป็นองค์ประกอบของร่างกายต่อไป

            พลังงานและอิเล็กตรอนเป็นตัวเชื่อมระหว่างแคแทบอลิซึมและแอแนบอลิซึม เพราะว่าในระหว่างการสลายสารอาหาร กระบวนการแคแทบอลิซึมเปลี่ยน ADP ให้เป็น ATP และเปลี่ยนสารนำอิเล็กตรอนในสภาพออกซิไดซ์ (NAD+, NADP+ และ FAD) ให้อยู่ในสภาพรีดิวซ์ (NADH, NADPH และ FADH2) และจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการแอแนบอลิซึม หลังจากนั้นก็จะได้สารนำอิเล็กตรอนในสภาพออกซิไดซ์ (NAD+, NADP+ และ FAD) กลับเข้าสู่กระบวนการแคแทบอลิซึมเหมือนเดิม

 

          

           กระบวนการเมแทบอลิซึมของสารอาหารที่ให้พลังงาน (คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และกรดนิวคลีอิก) แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

           1. การเปลี่ยนแปลงระหว่างมหโมเลกุลกับหน่วยโครงสร้าง (interchange between macromolecules and building units) ซึ่งจะเป็นการสลายให้ได้หน่วยโครงสร้างแต่จะไม่ได้พลังงานหรืออิเล็กตรอน
           2. การเปลี่ยนแปลงระหว่างหน่วยโครงสร้างกับโมเลกุลง่ายๆ เช่น acetyl CoA
           3. การเผาผลาญโมเลกุลง่ายๆ ให้เป็นของเสีย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์

           ในขั้นตอนที่สองและขั้นตอนที่สามจะให้พลังงานและอิเล็กตรอนค่อนข้างมาก