นาโนเทคโนโลยี  หน่วยที่ 1: ประวัติวิทยาศาสตร์ระดับนาโน  คริสตศตวรรษที่ 20 (1)  
     
     
 
 
     
   
     
 
Albert Einstein
 
     
 
          อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เมื่อครั้งที่เขาศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก ได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการคำนวณหาขนาดโมเลกุลของน้ำตาล โดยอาศัยข้อมูลจากการทดลองการแพร่กระจายของน้ำตาลในน้ำ  จากผลการวิจัยของเขาพบว่า  แต่ละโมเลกุลของน้ำตาลนั้นมีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตร หลังจากนั้นไอน์สไตน์ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานการหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของโมเลกุลน้ำตาลว่า  มีขนาดประมาณ 1 นาโนเมตรเท่านั้นเอง  ซึ่งก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของการค้นพบโครงสร้างระดับนาโนจากการศึกษาค้นคว้าของมนุษย์
 
     
   
     
 
 
Gustave Mie
 
ตัวอย่างการกระเจิงแสงที่ความยาวคลื่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติในช่วงขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นและกำลังจะตก
 
     
 
          นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อ กุสตาฟ มี (Gustave Mie) ผู้ที่แสดงให้เห็นถึงทฤษฎีการกระเจิงแสงของอนุภาค  ซึ่งเป็นทฤษฎีหนึ่งที่เกี่ยวข้องและเป็นพื้นฐานสำหรับวิทยาศาสตร์ระดับนาโน  ทฤษฎีของเขาทำให้เห็นว่าแสงจะเกิด การกระเจิงแสง (scattering) ได้ดีกับอนุภาคที่มีความยาวคลื่นสั้นมากกว่าอนุภาคที่มีความยาวคลื่นยาว ตัวอย่างเช่น การที่เราเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้าก็เพราะว่าอนุภาคของโมเลกุลที่อยู่ในอากาศ (เช่น โมเลกุลของก๊าซออกซิเจนและไนโตรเจน เป็นต้น) มีขนาดเหมาะกับการกระเจิงแสงของช่วงแสงสีฟ้าจากแสงของดวงอาทิตย์ได้ดีกว่าช่วงแสงสีเหลืองหรือสีแดง เพราะช่วงแสงสีฟ้ามีความยาวคลื่นที่สั้นกว่าแสงสีเหลืองและสีแดง (แต่ความจริงแล้ว แสงสีม่วงสามารถที่จะกระเจิงได้ดีกว่าแสงสีแดงถึง 16 เท่า แต่เรตินาของคนเรามีประสาทรับแสงที่ไวต่อแสงสีฟ้ามากกว่าแสงสีม่วง จึงทำให้เรามองไม่ค่อยเห็นส่วนที่เป็นสีม่วงมากนัก แต่จะเห็นส่วนที่เป็นสีฟ้ามากกว่า)
 
     
 
          แต่เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะตก แสงของดวงอาทิตย์จะส่องเข้ามาหาเราในลักษณะเฉียงเป็นมุมทแยงกับพื้นโลก  จึงทำให้แสงต้องเดินทางผ่านบรรยากาศที่หนาแน่นมากขึ้นกว่าตอนที่ดวงอาทิตย์อยู่สูงเหนือหัวเราขึ้นไปตรงๆ  ซึ่งทำให้แสงสีฟ้าเกิดการกระเจิงออกไปสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน  ทำให้เหลือกลุ่มที่เป็นแสงสีแดงหรือสีเหลืองมากขึ้น   จึงทำให้เกิดการเห็นท้องฟ้าเป็นแสงสีแดงในช่วงที่ดวงอาทิตย์กำลังจะตก (หรือในช่วงที่ดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นเช่นเดียวกัน)
 
     
 
          ทฤษฎีของกุสตาฟ มี ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากขนาดของอนุภาคระดับนาโนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ  ซึ่งเป็นตัวการหนึ่งที่กำหนดการมองเห็นสีของคนเรา และเขายังทำการพัฒนาวิธีการที่จะคำนวณหาขนาดของอนุภาค  โดยการพิจารณาจากแสงที่เกิดการกระเจิงออกมาของแต่ละอนุภาคอีกด้วย
 
     
 
   
   
     
 
 
 
Max Knoll และ Ernst Ruska
 
กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนตัวแรก
 
ภาพที่ได้จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน
 
     
 
          แม้ว่าในช่วงยุคนี้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง (light microscope) จะเป็นที่รู้จัก  และถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์แล้วก็ตาม แต่กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงก็ไม่สามารถที่จะใช้ศึกษาวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่าความยาวคลื่นของแสงที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ (ช่วงความยาวคลื่นที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้อยู่ในช่วงประมาณ 400 - 700 นาโนเมตร) ดังนั้นในการที่เราจะสามารถมองเห็นวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่าช่วงนี้ได้  จำเป็นที่จะต้องใช้แหล่งที่ให้รังสีแบบอื่นที่มีความยาวคลื่นที่สั้นกว่านี้มาก
 
     
 
          ในปี ค.ศ. 1931 นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ แมกซ์ โนลล์ (Max Knoll) และเอินสท์ รูสก้า (Ernst Ruska) ได้พัฒนากล้องจุลทรรศ์แบบใหม่ขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ  แล้วก็เป็นกล้องจุลทรรศน์ที่สามารถมองเห็นโลกขนาดเล็กจิ๋วได้มากกว่ากล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง  ซึ่งกล้องจุลทรรศน์แบบใหม่นี้เป็นการใช้ลำอิเล็กตรอนแทนลำแสงเดิม  จึงถูกเรียกว่ากล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron microscope)
 
     
 
          กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนกลายเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นก้าวแรกของการพัฒนาเทคนิคต่างๆ และเครื่องมือที่จะสามารถศึกษาลงไปในระดับนาโนเมตรได้
 
     
   
     
 
 
John Bardeen, Walter Brattain, และ William Shockley
 
ทรานซิสเตอร์ตัวแรกที่ถูกสร้างขึ้น
 
     
 
          นักวิทยาศาสตร์ชื่อ จอห์น บาร์ดีน (John Bardeen) และวอลเตอร์ แบรทเทรน (Walter Brattain) ได้ทำการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ทรานซิสเตอร์ (transistor) ซึ่งเป็นวงจรขยายสัญญาณที่สร้างขึ้นมาโดยใช้ส่วนผสมของธาตุเจอร์เมเนียม (germanium)  โดยพวกเขาเรียกมันว่าทรานซิสเตอร์แบบเป็นจุด (point-contact transistor) แต่การค้นพบนี้ไม่ได้เป็นที่สนใจมากนัก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1951 นักวิทยาศาสตร์ชื่อ วิลเลียม ชอคลีย์ (William Shockley) เป็นผู้ทำการปรับปรุงตามแบบแนวคิดดั้งเดิมของบาร์ดีนและแบรทเทรน จนกระทั่งได้เป็นทรานซิสเตอร์แบบรอยต่อ (junction transistor) ซึ่งเป็นทรานซิสเตอร์ที่เป็นของแข็ง  แต่กลับมีคุณสมบัติทางไฟฟ้าเหมือนกับเป็นหลอดสุญญากาศ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือมันมีราคาไม่แพง มีความแข็งแรง ใช้กำลังไฟฟ้าน้อย สามารถทำงานได้โดยทันที และที่สำคัญที่สุดคือมีขนาดเล็กมาก ผลสุดท้ายการค้นพบทรานซิสเตอร์เหล่านี้ก็เป็นผลงานที่ทำให้ทั้งสามคนได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ. 1956 สำหรับผลงานการศึกษาเกี่ยวกับสารกึ่งตัวนำและการค้นพบผลที่เกิดขึ้นกับทรานซิสเตอร์
 
     
 
          การประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์และวงจรรวม (integrated circuit) ได้นั้น เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงยุคเริ่มต้นของระบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสารกึ่งตัวนำเป็นสิ่งหนึ่งที่กำลังขับเคลื่อนการเติบโตของนาโนเทคโนโลยี นักวิจัยจำนวนมากในปัจจุบันกำลังเร่งทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทรานซิสเตอร์ในระดับนาโนที่ประกอบด้วยชิพ (chip) ที่สามารถประกอบขาได้จำนวน 10 ล้านขาหรือมากกว่านั้น
 
     
   
     
 
 
Erwin Mueller
 
กล้องจุลทรรศน์สนามอิเล็กตรอนตัวแรก
 
     
 
          ความสามารถในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีระดับนาโนนั้น  ปัจจัยสำคัญหนึ่งขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปี ค.ศ. 1951 นักวิทยาศาสตร์ชื่อ เออร์วิน มูเอลเลอร์ (Erwin Mueller) ศาสตราจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซินลวาเนีย สเตทท์ (Pensynlvania State University) ได้ทำการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์สนามอิเล็กตรอน (field-ion electron microscope) ได้สำเร็จ  ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำคัญของการพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยีอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นอะตอมเดี่ยว  และการจัดเรียงตัวของอะตอมบนพื้นผิววัตถุได้ จากการใช้กล้องจุลทรรศน์สนามอิเล็กตรอนนี้  และจากผลงานนี้ทำให้ศาสตราจารย์มูเอลเลอร์ถูกขนานนามว่าเป็นบุคคลแรกที่มองเห็นอะตอม