แสงที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงอยู่ในช่วงที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่า (ความยาวคลื่นประมาณ 400-700 นาโนเมตรหรือ nm) แต่ละความยาวคลื่นของแสงมีพลังงานจำเพาะ คือมีค่าของควันตัมจำเพาะต่อหน่วยแสง (photon) นั้นๆ แสงที่มีความยาวของคลื่นแสงยาว เช่น แสงสีแดง จะมีค่าควันตัมต่อหน่วยแสงน้อยกว่าแสงที่มีความยาวของคลื่นแสงสั้น เช่น แสงสีน้ำเงิน


เมื่อแสงช่วงที่ตามองเห็น (visible) กระทบกับโมเลกุลของสารสี อิเล็กตรอนของโมเลกุลจะดูดแสงหรือจะถูกกระตุ้นให้กระโดด (excite) ก็ต่อเมื่อค่าควันตัมของแสงต้องพอดีกับช่วงพลังงานที่อิเล็กตรอนต้องใช้ในการกระโดดไปยังสถานะที่สูงขึ้น (มีวงโคจรสูงขึ้นและมีพลังงานมากขึ้น) จึงสรุปได้ว่าการดูดแสงของสารเกิดขึ้นพร้อมกับการถูกกระตุ้นของอิเล็กตรอนของสารตัวนั้น ซึ่งทำให้อิเล็กตรอนมีพลังงานสูงขึ้นหรือไวต่อการเกิดปฏิกิริยาโดยเฉพาะปฏิกิริยารีดักชั่น (reduction)

แสงแดดมีพลังงานของโฟตอน (photon) ของทุกสี แต่คลอโรฟิลล์ของพืชจะดูดเอาควันตัมของสีน้ำเงินและสีแดงเป็นส่วนใหญ่ พลังงานเหล่านี้พืชสีเขียวได้นำไปใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสง

โฟตอน หมายถึง หน่วยของแสงซึ่งมีพลังงานมาด้วย
ควันตัม หมายถึง ค่าของพลังงานของแสงซึ่งมีค่าต่อหน่วยต่างกันตามความยาวคลื่นแสง
( รายละเอียดของค่าหน่วยพลังงาน โปรดคลิกดูจากรูป 1.5 )


แสงที่เรากล่าวถึงในที่นี้คือแสงในช่วงที่ตามองเห็น คือแสงที่มีสีในช่วงความยาวคลื่น 400-700 nm   สารที่เกิดเป็นสี   ได้ภายใต้แสงแดดหรือแสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ (fluorescent lamp) นั้น  สามารถดูดแสงได้อย่างน้อยในบางช่วงคลื่น หรือสามารถดูดแสงได้ทุกช่วงคลื่น โดยที่ความสามารถในการดูดแสงบางช่วงคลื่นอาจจะดีกว่าบางช่วงคลื่น ถ้าแสงไม่ถูกดูดเลย สารจะมีสีขาว แต่หากดูดหมดในทุกช่วงคลื่น  สารจะมีสีดำ และหากดูดไว้แต่ละช่วงคลื่นไม่เท่ากัน  สารจะเกิดเป็นสีต่างๆ

         ความสามารถในการดูดกลืนแสงวัดได้โดยใช้เครื่องมือวัดการดูดกลืนแสงหรือที่เรียกว่าเครื่อง "spectrophotometer" หลักการวัดการดูดกลืนแสงมีรายละเอียดอยู่ใน video clip (โปรดคลิกเพื่อดูรายละเอียด)

รูปที่ 1.5  คลื่นแสงในช่วงที่ตามองเห็น (visible) มีสีและพลังงานต่างๆ กัน